เมนู

กถาว่าด้วยทวารแห่งวจีกรรม



ก็ในกถาว่าด้วยทวารแห่งวจีกรรม ชื่อว่า วาจา มี 3 อย่าง คือ
เจตนา วิรติ สัททะ (เสียง) บรรดาวาจา 3 อย่างเหล่านั้น วาจานี้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ เหล่านั้น เป็นวาจาสุภาษิต มิใช่
วาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ เป็นวาจาที่ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน ดังนี้
ชื่อว่า เจตนาวาจา. วาจานี้ว่า การงด การเว้น จากวจีทุจริต 4 ฯลฯ อันใด
นี้ตรัสเรียกว่า สัมมาวาจา ดังนี้ ชื่อว่า วิรติวาจา. วาจานี้ว่า จริงอยู่
วาจาที่เปล่ง คลองแห่งคำ การเปล่งขึ้น เสียงกึกก้อง ทำเสียงให้กึกก้อง วาจา
การเปล่งวาจา ดังนี้ ชื่อว่า สัททวาจา.
บรรดาวาจาทั้ง 3 เหล่านั้น คำว่า วจีกรรมทวาร มิใช่เป็นชื่อของ
เจตนามิใช่เป็นชื่อของวิรติ แต่ว่า วิญญัติอย่างหนึ่งซึ่งมีเสียงร่วมด้วยมีอยู่ นี้ชื่อ
ว่า ทวารแห่งวจีกรรม. วจีทวารที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาตรัสไว้ว่า
รูปที่เป็นวจีวิญญัตินั้น เป็นไฉน ? การพูด การเปล่งออก คลองแห่งวาจา
การเปล่งขึ้น เสียงกึกก้อง การทำเสียงให้กึกก้อง วาจา การเปล่งวาจา แห่ง
บุคคลผู้มีจิตเป็นกุศล หรือมีจิตเป็นอกุศล หรือมีจิตเป็นอัพยากตะ อันใด
ดังนี้ นี้เรียกว่า วาจา. วิญญัติ การแสดงให้รู้ความหมาย กิริยาที่แสดงให้รู้
ความหมายทางวาจา อันใด รูปนี้นั้น เรียกว่า วจีวิญญัติ.
จริงอยู่ เมื่อเราตรึกว่า เราจักกล่าวคำนี้ เราจักกล่าวคำนั้น ชื่อว่า
เสียงอันแผ่ไปด้วยวิตก ย่อมเกิดขึ้น. วาทะนี้มาในมหาอรรถกถาว่า เสียงนี้
มิได้รู้ได้ด้วยโสตะ รู้ได้ด้วยใจ ดังนี้ แต่ในอรรถกถาที่มาทั้งหลาย อธิบาย

คำว่า วิตกฺกวิปฺผารสทฺทํ (เสียงที่แผ่ไปด้วยวิตก) เป็นเสียงของคนหลับ
และประมาทแล้ว กำลังบ่นเพ้ออันเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการแผ่ไปของวิตก.
คำว่า สุตฺวา นั้น ความว่า เมื่อบุคคลนั้นฟังแล้วตรึกซึ่งเรื่องใด เสียงอัน
แผ่ไปแห่งวิตกนั้นเกิดขึ้นแล้ว ด้วยอำนาจแห่งเรื่องนั้น ก็จักทายใจได้ว่า ใจของ
ท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นอย่างนั้นบ้าง ครั้นกล่าวด้วยประการฉะนั้น
แล้ว ก็กล่าวแม้เรื่องทั้งหลาย. แม้ในปัฏฐานก็มีพระบาลีอันมาแล้วว่า สัททาย-
ตนะ มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจจัยแก่โสตวิญญาณด้วยอารัมมณปัจจัย ดังนี้
เพราะฉะนั้น ชื่อว่า เสียงที่แผ่ไปแห่งวิตกที่รู้ไม่ได้ด้วยโสตะ ซึ่งเกิดขึ้นเว้น
จากการกระทบกับวิญญัติย่อมไม่มี ก็จิตเมื่อเกิดขึ้นว่า ข้าพเจ้าจักกล่าวคำนี้
ข้าพเจ้าจักกล่าวคำนั้นดังนี้ ย่อมยังรูปให้ตั้งขึ้น 8 รูป คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ
เตโชธาตุ วาโยธาตุ วรรณะ คันธะ รส โอชา
ปฐวีธาตุที่มีจิตเป็น
สมุฏฐานในภายในแห่งรูป 8 เหล่านั้น กระทบอยู่ซึ่งอุปทินนกกายก่อนจึงเกิด
ขึ้น เสียงย่อมเกิดขึ้นด้วยกายกระทบกับปฐวีธาตุนั้น นี้ชื่อว่า เสียงที่มีจิตเป็น
สมุฏฐานนี้ไม่ใช่วิญญัติ แต่ว่า วิการแห่งอาการอย่างหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยแก่การ
กระทบอุปทินนกกายของปฐวีธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐานนั้น นี้ชื่อว่า วจีวิญญัติ
นอกจากนี้ คำทั้งปวงมีอาทิว่า สา อฏฺฐ รูปานิ วิย น จิตฺตสมุฏฺฐานา
วจีวิญญัตินั้น ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เหมือนรูปทั้ง 8 บัณฑิตพึงทราบโดยนัย
กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
จริงอยู่ แม้ในที่นี้ บุคคลฟังเสียงของผู้เรียกว่า ติสสะ ทัตตะ มิตตะ
ดังนี้ แล้วก็คิดถึงวิญญัติ ด้วยมโนทวารจิตแล้วย่อมรู้ว่า ผู้นี้เห็นจะให้กระทำ
สิ่งนี้และสิ่งนี้ ดังนี้ อนึ่ง แม้วาจานี้ ก็ย่อมปรากฏแก่สัตว์เดรัจฉาน ดุจกาย-

วิญญัติ. จริงอยู่ แม้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายพึงเสียงว่า เจ้าจงมา เจ้าจงไป ดังนี้
ก็รู้ว่า บุคคลนี้เห็นจะให้ทำชื่อสิ่งนี้ จึงเดินมาและเดินไป.
ก็วาระนี้ว่า เสียงย่อมยังกายอันมีสมุฏฐาน 3 อย่าง ย่อมให้ไหว
หรือไม่ให้ไหว ดังนี้ ไม่มีในวจีวิญญัตินี้ แม้กิจคือการอุปถัมภ์แห่งเสียง
ที่มีจิตเป็นสมุฏฐานดวงก่อนก็ไม่มี แต่ว่า เจตนาใดที่ให้สำเร็จแม้ในวจีทวาร
นั้น และเจตนาที่เป็นเหตุพูดเท็จ กล่าวส่อเสียด กล่าวคำหยาบ กล่าวเพ้อเจ้อ
เจตนางดเว้นจากมุสาวาทเป็นต้น นี้ชื่อว่า วจีกรรม. เบื้องหน้าแต่นี้ บัณฑิต
พึงทราบการกำหนดกรรม การกำหนดทวาร โดยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั้นแล.
จบ กถาว่าด้วยทวารแห่งวจีกรรม

กถาว่าด้วยทวารแห่งมโนกรรม



ก็บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในกถาว่าด้วยทวารแห่งมโนกรรมต่อไป
ใจ 4 อย่าง ด้วยสามารถแห่งจิตที่เป็นกามาวจรจิตเป็นต้น ชื่อว่า มโน
(ใจ) ในบรรดามโนที่เป็นกามาวจรเป็นต้นเหล่านั้น มโนแม้ทั้งหมดมี 89
อย่างคือ มโนที่เป็นกามาวจร 54 อย่าง มโนที่เป็นรูปาวจรมี 15 อย่าง
มโนที่เป็นอรูปาวจรมี 12 อย่าง มโนที่เป็นโลกุตรมี 8 อย่าง ในบรรดา
มโนเหล่านั้น ธรรมดามโนนี้ไม่ควรกล่าวว่า ไม่เป็นมโน เหมือนอย่างว่า
ธรรมดาว่า เจตนานี้ ไม่ควรกล่าวว่า ไม่เป็นกรรม เพราะโดยที่สุดแม้เจตนา
ที่สัมปยุตด้วยปัญจวิญญาณ (วิญญาณ 5) ในมหาปกรณ์ก็ทรงแสดงไว้ว่า เป็น
กรรมนั่นแหละ ฉันใด ธรรมดาว่า มโนนี้ก็ไม่ควรกล่าวว่า ไม่ใช่มโนทวาร
ฉันนั้นเหมือนกัน.